ผู้ว่า.เปิดโรงพยาบาลสนาม ม.กีฬาแห่งชาติ หอประชุมจังหวัดลำปาง

แถลงการณ์เปิดโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลําปางและโรงพยาบาลสนาม หอประชุมจังหวัดลำปาง

​วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 น. นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง ได้แจ้งสถานการณ์โรคโควิด – 19 จังหวัดลำปางว่า วันนี้จังหวัดลำปางพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 53 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อที่ติดต่อเข้ารับการรักษาจากโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน จำนวน 36 ราย ผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ Big C ลำปาง จำนวน 1 ราย ผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในจังหวัด จำนวน 16 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 50 ราย เสียชีวิต 1 ราย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบัน จังหวัดลำปางมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวม 1006 ราย รักษาหายแล้ว 568 ราย กำลังรักษา 436 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัด โรงพยาบาลสนาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง และโรงพยาบาลสนาม ภายในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ

​จากสถานการณ์ดังกล่าว จังหวัดลำปางมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ครองเตียงโควิดที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วถึง 93 % คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงได้เตรียมสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งโรงพยาบาลสนามมีความสำคัญ ดังนี้
1. หากพื้นที่ใดมีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นจำนวนมาก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้มีจำนวนเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยและสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้ง เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยประเภทอื่น และหลีกเลี่ยงการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับผู้ป่วยประเภทอื่น นอกจากนี้ยังเป็นการลดอัตราเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้น หรือควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกนอกพื้นที่

2. การจัดพื้นที่ที่มีระบบและมาตรการในการควบคุม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จะทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น เกิดความปลอดภัย และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน

3. การมีโรงพยาบาลสนาม จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง เพราะโรงพยาบาลสนามไม่ได้รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก แต่จะดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะมีกระบวนการส่งต่อที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยไม่แพร่กระจายเชื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ดูแลจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพโดยเร็วที่สุด
​จึงมีความจำเป็นที่ต้องเปิดใช้งานโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง คือ อาคารหอประชุมโรงอาหาร มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลําปาง จำนวน 200 เตียง และ อาคารหอประชุมจังหวัดลำปาง จำนวน 150-200 เตียง

ซึ่งโรงพยาบาลสนาม อาคารหอประชุมโรงอาหารมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลําปาง จะรับผู้ป่วยเพศชาย และ โรงพยาบาลสนาม อาคารหอประชุมจังหวัดลำปาง จะรับผู้ป่วยเพศหญิง โดยจะเริ่มย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ตามเกณฑ์ คือ รักษาในโรงพยาบาลมาแล้วอย่างน้อย 3 วันขึ้นไป และอายุระหว่าง 10-60 ปี ไม่มีอาการหอบ ไม่ต้องใช้ออกซิเจน ไม่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม ปริมาณออกซิเจนในเลือดมากกว่า 96% ช่วยเหลือตัวเองได้ ทำกิจวัตรได้ และหากผู้ป่วยขณะที่รักษาในโรงพยาบาลสนาม มีปริมาณออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 96% หรือ มีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือความดันโลหิตต่ำ (น้อยกว่า 90/60 mmHg) จะถูกส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลลำปางทันที

ในวันนี้ ได้เตรียมส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลําปาง จำนวน 50 ราย ส่วนโรงพยาบาลสนาม หอประชุมศาลากลางจังหวัดลำปาง จะเริ่มรับผู้ป่วยในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ขณะนี้ โรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่ง มีอุปกรณ์ และเครื่องใช้ เพียงพอ และขอขอบคุณ ผู้บริจาคพัดลม และเครื่องใช้ต่างๆ หากมีความจำเป็น จังหวัดลำปาง จะแจ้งให้ทราบ

​โรคโควิด-19 ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ เราป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ดังนั้นแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลสนามในชุมชน ก็ไม่สามารถทำให้คนในบริเวณใกล้เคียงเกิดการติดเชื้อ เพราะโรงพยาบาลสนามตั้งห่างจากชุมชน 200-500 เมตร และการติดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นการติดผ่านละอองเสมหะ น้ำลาย ไม่ได้ติดต่อทางอากาศ
​ขอให้มั่นใจว่า จังหวัดลำปางสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ขอความร่วมมือชาวลำปางทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด รวมทั้งปฏิบัติตนตามมาตรการความปลอดภัย (DMHT) อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนศูนย์โควิด-19 จ.ลำปาง โทร.093-1408023 ได้ทุกวันระหว่างเวลา 08.30 -16.30 น.

แสดงความคิดเห็น ▼

ความคิดเห็น

สร้าง APP กาดกองต้า ในมือถือ


คลิก! ดูวิธีการ

คนเหนือ

คนลำปางหนา